ทำไม SMEs ไทย ต้องเข้าตลาดทุน
รัฐบาลได้มีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) อย่างจริงจัง จากข้อมูลของสํานักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) พบว่า ในปี 2562 SMEs ไทย มีจำนวนทั้งสิ้นกว่า 3 ล้านราย คิดเป็นร้อยละ 99.53 ของวิสาหกิจทั้งหมด ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ มีสัดส่วนต่อ GDP ของประเทศคิดเป็นร้อยละ 35.30 ของ GDP ทั่วประเทศ และมีสัดส่วนต่อการจ้างงานมากถึงร้อยละ 69.48 SMEs จึงเป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดการกระจายรายได้และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม แต่อุปสรรคสำคัญประการหนึ่งของ SMEs คือ การเข้าถึงแหล่งเงินทุน อันเนื่องมาจากข้อจำกัด ทั้งความไม่พร้อมของผู้ประกอบการ หลักเกณฑ์ที่ไม่ยืดหยุ่นของสถาบันการเงิน ประเภทของเงินทุนในประเทศที่ไม่มีความหลากหลาย และไม่ตอบสนองความต้องการของธุรกิจในแต่ละช่วงการเติบโต ทั้งนี้ พบว่าผู้ประกอบการที่ต้องเผชิญปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะปิดกิจการ และบางกลุ่มต้องรับภาระจากต้นทุนการกู้ยืมที่สูงเกินไป ซึ่งถือเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเติบโตของธุรกิจ
การสนับสนุนให้ SMEs ที่มีศักยภาพเข้าถึงตลาดทุน เป็นอีกเป้าประสงค์ของรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมและพัฒนา SMEs ให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน ตามนโยบายรัฐบาลภายใต้แผนการส่งเสริม SME ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2560–2564) ในยุทธศาสตร์ที่ 1 ส่งเสริมและพัฒนา SMEs รายประเด็น ซึ่งเป็นการส่งเสริมและพัฒนา SMEs ในประเด็นที่มีความสำคัญต่อการเติบโตและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และหนึ่งในกิจกรรมที่จะทำให้แผนงานตามยุทธศาสตร์นี้บรรลุผล คือ การสนับสนุนให้ SMEs ที่มีศักยภาพเข้าถึงตลาดทุน เพื่อเพิ่มโอกาสในการขยายตลาด และขยายธุรกิจ ผ่านการระดมทุนในตลาดทุนของไทย ซึ่งการแปรสภาพเพื่อเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการยกระดับธุรกิจให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากเป็นแหล่งระดมเงินทุนระยะยาว สำหรับใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน หรือขยายธุรกิจที่ง่ายและรวดเร็ว สร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน และมีโอกาสในการเลือกระดมทุนผ่านการออกหลักทรัพย์ประเภทอื่น ๆ ได้ง่ายขึ้น นอกจากนั้นยังสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับกิจการ ทำให้บริษัทเป็นที่รู้จัก และเป็นที่ยอมรับของสาธารณชนมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังสร้างแรงจูงใจให้เกิดความสนใจในการเข้าร่วมลงทุนจากกลุ่มธุรกิจทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อิตาลี เยอรมนี และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น ให้ความสำคัญกับ SMEs ที่มีการเติบโตสูง (High Growth SMEs) เป็นอย่างมาก เนื่องจากช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจ ทั้งการจ้างงาน การเพิ่มปริมาณงานที่มีคุณภาพ การเพิ่มรายได้ให้กับพนักงานอันนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ประกอบกับยังเป็นแหล่งของนวัตกรรมเพื่อยกระดับเศรษฐกิจของประเทศด้วย
จากเหตุผลดังกล่าว กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจึงได้จัดทำโครงการบ่มเพาะ SMEs ที่มีศักยภาพให้มีความพร้อมในการขยายสู่ตลาดทุน (mai) โดยการคัดเลือก SMEs ที่มีศักยภาพ มีโอกาสในการเติบโตสูงจากพื้นที่ทั่วประเทศ โดยตั้งเป้าส่งเสริมและสนับสนุน SMEs ให้สามารถพัฒนาตนเองจนมีความพร้อมในการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ได้ ภายใต้แผนการดำเนินโครงการ 3 ปี ซึ่งวิสาหกิจที่เข้าร่วมโครงการนี้ จะเป็นต้นแบบในการพัฒนาเพื่อขยายผลให้ SMEs รายอื่น ๆ ได้สามารถศึกษาแนวทางการพัฒนาและเรียนรู้กลยุทธ์ รวมถึงแนวทางการปฏิบัติเพื่อนำไปปรับและประยุกต์ใช้กับธุรกิจของตนได้ต่อไป
บทความโดย นายรักษ์ เจริญศิริ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาบริการธุรกิจอุตสาหกรรม กองพัฒนาขีดความสามารถธุรกิจอุตสาหกรรม